วันพุธที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2550

การผสมเทียมปลาสลิด

การผสมเทียมปลาสลิด

1. การเตรียมบ่อและโรงเรือน
1.1 บ่อ ที่ใช้ในการเพาะฟักปลาสลิดโดยการผสมเทียมนั้น จะทำเป็นบ่อปูนโดยการก่ออิฐบล๊อกขนาดกว้างอิฐ 3 ก้อน ยาว 8 ก้อน สูง 3 ก้อน ยกพื้นจะหรือพื้นสำหรับเป็นบ่อจริงสำหรับขังน้ำ 2 ก้อน
1.2 โรงเรือน โรงเรือนที่สร้างคลุมบ่อหรืออ่างเพาะฟักนั้นจะต้องควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนได้ เพราะอุณภูมิในโรงเรือนนั้นมีผลต่อการเพาะฟักปลาสลิดโดยวิธีการผสมเทียมเป็นอย่างมาก โดยหลังคาและด้านข้างจะต้องใช้พลาสติกคลุม
และมีพัดลมสำหรับระบายอากาศเมื่อยามอุณหภูมิภายในโรงเรือนสูง 40 องศาเซนเซียส
1.3 อุณหภูมิ อุณหภูมิที่ใช้ในการเพาะฟักปลาสลิดโดยการผสมเทียม อุณหภูมิของน้ำในระหว่างเพาะฟักจะอยู่ในช่วง 28 – 30 องศาเซนเซียส อุณหภูมิภายในโรงเรือนจะอยู่ในช่วง 38 – 40 องศาเซนต์เซียส
1.4 ฮอร์โมนที่ใช้ผสมเทียม จะใช้ฮอร์โมนซูพรีแฟคที่มีความเข้มข้น 25 ไมโครกรัม จะใช้ให้กับแม่พันธุ์เท่านั้น
1.5 จำนวนพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ จะใช้อัตราส่วน 1 / 1 ขนาดของบ่อกว้าง 1.20 ม. ยาว 4 เมตร จะปล่อยพ่อแม่พันธุ์ ประมาณ 15 คู่
1.6 การเตรียมบ่อเพาะฟักปลาสลิดโดยวิธีการผสมเทียม จะต้องเตรียมน้ำก่อน โดยการนำหญ้าแห้งมามัดเป็นกำ ๆ ประมาณ 15 – 20 กำ/บ่อ ทิ้งไว้ประมาณ 1 วัน จะสังเกตุได้จากสีของน้ำจะออกสีแดง ๆ
1.7 เมื่อเตรียมบ่อและเตรียมน้ำเสร็จแล้วให้นำพ่อพันธุ์ปล่อยลงไปในบ่อๆละ 15 ตัวหลังจากนั้นให้ฉีดฮอร์โมนให้กับแม่พันธุ์ แล้วปล่อยลงไปในบ่อ ๆ ละ 15 ตัว เช่นกัน หลังจากนั้นให้ใช้สแลนสีเขียวชนิดพรางแสง ประมาณ 60/40 ปิดปากบ่อเพื่อให้เกิดความมืดเพื่อให้ปลาก่อหวอด
1.8 หลังจากปล่อยพ่อแม่ปลาลงในบ่อเพาะฟักแล้ว ประมาณ 48 ชั่วโมง ปลาจะเริ่มก่อหวอด ในระหว่างนั้นคาดว่าปลาจะวางไข่แล้ว
1.9 หลังจากปลาก่อหวอดแล้วอีกประมาณ 3 วัน หวอดจะยุบและจะเห็นลูกปลา
1.10 หลังจากปลาเป็นตัวแล้วให้เก็บหญ้าแห้งออก และเริ่มให้ไรแดง ไปจนกระทั่งมี
อายุประมาณ 25 วัน ก็เริ่มจับจำหน่ายได้
หมายเหตุ จะต้องจับและเคลื่อนย้ายก่อนที่ลูกปลาเกร็ดแข็ง เพราะถ้าปล่อยให้ปลาเกร็ดแข็ง เกร็ดจะหลุดจะทำให้ปลาเป็นโรคเลี้ยงไม่รอด

การเจือจางฮอร์โมนสำหรับผสมเทียมปลา

ในที่นี้จะกล่าวถึงวิธีการผสมฮอร์โมน ซูฟรีแฟคท์ เป็นฮอร์โมนสังเคราะห์เมื่อซื้อฮอร์โมนซูฟรีแฟคท์มาแล้วจากร้านขายยา ก่อนอื่นควรทราบรายละเอียดของฮอร์โมนก่อน กล่าวคือ
* ฮอร์โมนที่ซื้อมา 1 ขวดนี้ ราคาประมาณ 1,650 บาท
* ใน 1 ขวด จะบรรจุฮอร์โมนประมาณ 10 ซี.ซี. จะมีความเข้มข้น 10,000 ไมโครกรัม
* ในการผสมเทียมปลาแต่ละครั้งจะใช้ความเข้มข้น ประมาณ 25 ไมโครกรัม
* ฉะนั้นจะต้องเจือจางฮอร์โมนที่ซื้อมาซึ่งมีความเข้มข้นถึง 10,000 ไมโครกรัม ให้เหลือความเข้มข้นประมาณ 25 ไมโครกรัม จึงจะผสมเทียมได้

ขั้นตอนในการเจือจางฮอร์โมนในการผสมเทียมปลามีดังนี้
1. นำฮอร์โมนที่ซื้อมา 1 ขวด ใช้เข็มฉีดยาดูดฮอร์โมนออกมา 1 ซี.ซี. ใส่ขวดแก้วที่มีสีชาไว้
2. ซื้อน้ำเกลือ( ที่ใช้สำหรับให้คนป่วย) ที่มีเดร็กโตรส 5 % มา 1 ขวด หลังจากนั้นใช้เข็มฉีดยาดูดน้ำเกลือออกมา 9 ซี.ซี. ผสมกับฮอร์โมนที่ดูดออกมาใส่ขวดไว้ในครั้งแรก เขย่าผสมให้เข้ากัน ( ในช่วงนี้ ความเข้มข้นของฮอร์โมนที่ได้จะมีความเข้มข้น 100 ไมโครกรัม )
3. เวลาจะใช้ฮอร์โมนในการผสมเทียมปลาจริง ๆ จะใช้เข็มฉีดยา ดูดฮอร์โมนที่ได้จากการผสมในข้อที่ 2 (ความเข้มข้น 100 ไมโครกรัม ) ออกมา 1 ซี.ซี. แล้วใส่แก้วไว้
4. ให้ใช้เข็มฉีดยาดูดน้ำเกลือออกมา 4 ซี.ซี. ใส่ผสมกับฮอร์โมนในข้อที่ 3 เมื่อผสมกันแล้ว
(ในข้อ 3 และข้อ 4 )จะได้ฮอรโมนทั้งหมดจำนวน 5 ซี.ซี. ความเข้มข้นของฮอร์โมนจะเหลือ 25 ไมโครกรัมแล้ว สามารถนำไปฉีดให้กับปลาได้ 5 กิโลกรัม แต่ก่อนจะนำไปฉีดจะต้องนำฮอร์โมนนี้ไปผสมกับยาโมทิเลี่ยม m 1 เม็ด ( โมทิเลียมจะต้องบดให้ละเอียดเสียก่อน) นำฮอรโมนที่ผสมแล้วดูดใส่เข็มฉีดยาขนาดบรรจุ 1 ซี.ซี. ไว้จะได้ทั้งหมด 5 เข็ม
5. การฉีดฮอร์โมนแต่ละครั้งจะฉีดในปริมาณเท่าไร ก่อนอื่นต้องจับปลาชั่งที่ละตัวว่าน้ำหนักตัวเท่าไร ตัวอย่าง จับปลาตัวแรก ชั่งได้ นำหนัก 2 ขีด ให้เอาเข็มแทงบริเวณด้านข้างลำตัวใกล้ครีบหลัง แล้วฉีดฮอร์โมนให้ปลา 0.2 ซี.ซี. ถ้าปลาตัวต่อไปนำหนัก 2.5 ขีด ก็ฉีดฮอร์โมน 0.25 ซี.ซี. ( ให้ชั่งปลาทุกตัวและฉีดฮอร์โมน โดยยึดหลัก ปลา 1 กิโลกรัม ต่อ ฮอร์โมน 1 ซี.ซี.)
หมายเหตุ
ในการเจือจางฮอร์โมนในทางปฏิบัติจริง ๆ ไม่ใช่เรื่องยากเลย เมื่อเป็นแล้วสามารถนำไปใช้ในการผสมเทียมได้ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นปลาสลิด ปลาหมอไทย ปลาดุก ตะเพียน ยีสก
ปัญหาจริง ๆ คือ ไม่มีใครบอกวิธีการเจือจางฮอร์โมน ได้แต่บอกว่า ว่าผสมเทียมปลาจะต้องฮอร์โมนที่มีความเข็มข้น 10 – 30 ไมโครกรัม แล้ว 10 – 30 ไมโครกรัม เอามาจากไหนมาได้อย่างไร ทำให้ผู้อ่านไม่สามารถปฏิบัติได้

นักเรียนโรงเรียนบางลี่วิทยา มีการเรียนการสอนในรายวิชา การเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืด โดยผสมเทียมปลาสลิด ปลาหมอไทย ปลาตะเพียน ปลายีสก ปลาดุกบิ๊กอุย ปลาดุกรัสเซีย และปลาอื่น ๆ ที่นักเรียนสนใจ หรือหาพันธุ์ปลาได้

ไม่มีความคิดเห็น: